July 6, 2021

(Beta) "How to Thai Wikipedia" | ตอนที่ 1 "เกี่ยวกับวิกิพีเดีย"

เกี่ยวกับวิกิพีเดีย

โลโก้วิกิพีเดียภาคภาษาไทย (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Wikipedia-logo-v2-th.svg]])

สวัสดีครับ นี้คือโพสต์แรกของผมเกี่ยวกับวิกิพีเดียนะครับ เพื่อที่ผมจะได้ทำโพสต์หลาย ๆ อันเกี่ยวกับวิกิมีเดีย/วิกิพีเดียได้ ผมจึงได้เริ่มโพสต์นี้ก่อน โดยเริ่มในรูปแบบของชุดของโพสต์ หรือ series ครับ (ขอเรียกว่า ชุดตอน แทนนะครับ) โดยนี้จะเป็นโพสต์แรกของชุดตอนที่มีชื่อว่า "How to Thai Wikipedia" ครับ เป็นชุดตอนที่เล่าเกี่ยวกับ แนะนำการใช้งานและมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียภาคภาษาไทย ครับ

โดยผมได้ศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียภาษาไทยเป็นหลักนะครับ นั้นหมายความว่าสิ่งที่คุณเห็นก็น่าจะอิงมาจากวิกิพีเดียภาคภาษาไทยนั้นเอง แต่หลาย ๆ อย่างก็มีความคล้าย/เหมือนกับวิกิพีเดียภาคภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ครับ แต่ก็มีหลาย ๆ อย่างเช่นกันที่อิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมด้วยนะครับ

และทั้งนี้ ในชุดตอนนี้อาจจะเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่คุณสนใจ คุณสามารถข้ามไปอ่านส่วนอื่น ๆ ก่อนตามความเหมาะสมได้นะครับ สำหรับเนื้อหาอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในบทความนี้โดยไม่ขอแจ้งล่วงหน้านะครับ

และต่อไปนี้ผมจะนิยาม วิกิพีเดีย ว่ารวมทุกภาคภาษา หากอิงเฉพาะภาคภาษาใด ๆ จะระบุว่า เช่น วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ, วิกิพีเดียภาษาไทย เป็นต้น

เข้าเรื่องกันเลยนะครับ ในมุมมองของผมแล้ว คิดว่าคนรอบข้างผม และใครหลาย ๆ คนคงรู้จัก "วิกิพีเดีย" กันมาบ้างแล้ว แต่ว่าจะรู้จักดีแค่ไหนกันน้าา...

ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียนั้นอาศัยสามัญสำนึก ประสบการณ์ทางภาษา ความรู้ทั่วไปทางวิกิมีเดีย พอสมควร แต่ที่สำคัญ ทักษะการศึกษาด้วยตนเองนั้นมีบทบาทอย่างมากในการเรียนรู้การมีส่วนร่วมใน วิกิพีเดีย/โครงการในเครือมูลนิธิ/รวมไปถึงตัวมูลนิธิเอง --NP-chaonay


เกร่นนำวิกิพีเดีย


เอาล่ะความรู้พื้นฐานประตูด่านแรก: วิกิพีเดียคืออะไร

วิกิพีเดีย คือ เว็บไซต์ออนไลน์ชนิดหนึ่งครับ ในรูปแบบของวิกิ เป็นเว็บฯ ที่ให้บริการเนื้อหาในรูปแบบสารานุกรม พูดสั้น ๆ ก็คือเว็บไซต์สารานุกรมระบบวิกิ นั้นเองครับ


ระบบวิกิ?

ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์ที่ใช้ระบบวิกิ (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Wikitext-wiki_markup-wikipedia.png]])
อธิบายสั้น ๆ ว่านะครับตามความเข้าใจผมคือ วิกิ เป็นรูปแบบของเว็บที่เป็นระบบหน้าบทความ และออกแบบมาให้ผู้ใช้/ผู้อ่านสามารถแก้ไขเนื้อหาของหน้าได้ตามที่ผู้ดูแลระบบเว็บฯ หรือสมาชิกในเว็บฯ กำหนดครับ โดยเว็บฯ เหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะครับ ที่นิยามไว้ว่า ระบบวิกิ ต้องมีลักษณะแบบนั้นแบบนี้ เอาง่าย ๆ ระบบเว็บไซต์ที่มีความคล้ายคลึงกับ วิกิพีเดีย หรือเว็บไซต์ประเภทวิกิ  ก็อาจมีความน่าจะเป็นที่เป็นระบบวิกิเหมือนกันครับ อย่างก็ตามสามารถไปศึกษาระบบวิกิที่เว็บไซต์ที่บ่งบอกว่าเป็นเว็บไซต์วิกิได้ หรือจะลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบวิกิก็ได้เช่นกัน


ที่มาชื่อวิกิพีเดีย?

มาจาก Wiki+Pedia โดย Pedia มาจากคำว่า encyclopedia (แปลว่า สารานุกรม) ครับ 


ใครเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของ

ก่อตั้งโดย จิมมี เวลส์, แลร์รี แซงเจอร์ และ มูลนิธิวิกิมีเดีย เป็นเจ้าของ


มูลนิธิวิกิมีเดีย?

โลโก้มูลนิธิวิกิมีเดีย (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Wikimedia_Foundation_logo_-_vertical.svg]])
มูลนิธิวิกิมีเดียเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดย จิมมี เวลส์ เป็นมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา โดยเป้าหมายคือการพัฒนาและดูแลโครงการเว็บฯ ประเภทวิกิที่มูลนิธิฯ เป็นเจ้าของ โดยโครงการดังกล่าวก็มีหลาย ๆ รูปแบบเนื้อหา เช่น สารานุกรม (รู้จักกันในนาม วิกิพีเดีย) หนังสือ (วิกิตำรา) พจนานุกรม (วิกิพจนานุกรม) เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นคลังความรู้สู่สังคมดี ๆ นั้นเองครับ

ซึ่งที่มาของชื่อ วิกิมีเดีย ก็คือ Wiki+Media (แปลว่าสื่อ) ครับ ก็คือสื่อในรูปแบบเว็บฯ วิกินั้นเอง


แล้วชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยสัมพันธ์อย่างไรกับมูลนิธิวิกิมีเดีย

อันนี้เป็นคำตอบที่เกี่ยวกับระบบชุมชนของโครงการในเครือมูลนิธิวิกิมีเดียครับ ซึ่งจะอธิบายทีหลัง แต่จะตอบสั้น ๆ ก่อนว่า: เป็นอาสาสมัครของโครงการในเครือมูลนิธิฯ ซึ่งอาสาสมัครไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกของมูลนิธิหรือต้องมีบัญชีวิกิมีเดียเลยครับ (จะเห็นว่าคำตอบมันอาจจะฟังดูเข้าใจยากหน่อยครับ เพราะอย่างที่บอกว่าต้องเข้าใจระบบชุมชนก่อน ซึ่งจะอธิบายพอสังเคปให้ทีหลังครับ)


โปรแกรมที่ใช้ในระบบวิกิ ของวิกิพีเดียและโครงการในเครือมูลนิธิวิกิมีเดีย?

โลโก้มีเดียวิกิ (Credit: Wikimedia Commons: [[File:MediaWiki-2020-logo.svg]])
MediaWiki มีผู้พัฒนาคือมูลนิธิวิกิมีเดีย และ ไบรออน วิบเบอร์ (ผู้จัดการ) และจัดอยู่ในโครงการของมูลนิธิวิกิมีเดีย เป็นระบบที่เป็นที่นิยมในระบบวิกิของเว็บอื่น ๆ


ประวัติความเป็นมาโดยย่อของวิกิพีเดีย?

โลโก้ Nupedia (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Nupedia.svg]])
เริ่มมาจากโครงการ Nupedia (สร้างขึ้นเมื่อต้นปี 2543) ซึ่งเป็นโครงการเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ (คาดว่าไม่ใช่ระบบวิกิ และอาจมีแค่ภาษาอังกฤษ) ที่เขียนโดยผู้ชำนาญ จากนั้น แลร์รี แซงเจอร์ และ จิมมี เวลส์ ก็ได้ก่อตั้งสารานุกรมวิกิพีเดีย (เมื่อต้นปี 2544) จากนั้นวิกิพีเดียก็เริ่มมีหลายภาษา แล้วหลังจากนั้น Nupedia ก็ได้ปิดบริการลง (เมื่อปี 2546) และเมื่อปี 2550 วิกิพีเดียภาษาอังกฤษก็ได้เป็นสารานุกรมที่มีจำนวนบทความมากที่สุดในโลก


ใครเขียนบทความวิกิพีเดีย

อาสาสมัครครับ ซึ่งก็คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าจะมีบัญชีหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะการล็อคของบทความแต่ละบทความตามช่วงเวลาด้วย


ใครดูแลระบบเว็บและโครงการวิกิพีเดีย (รวมไปถึงโครงการพี่น้อง อื่น ๆ)

  • ระบบเว็บ: ผู้ที่มีส่วนร่วมใน Wikimedia Phabricator ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกมูลนิธิฯ สามารถตรวจสอบและพัฒนาระบบได้ตามสิทธิที่มี และสมาชิกบางคนของมูลนิธิสามารถเข้าถึงระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของ Wikimedia server (server ที่ใช้เปิดเว็บฯ ที่มูลนิธิเป็นเจ้าของ ซึ่งเว็บดังกล่าวก็รวมไปถึงทุกโครงการในเครือวิกิมีเดีย ซึ่งก็รวมไปถึง วิกิพีเดีย) ได้
  • โครงการ: มูลนิธิวิกิมีเดียและอาสาสมัครทั้งส่วนท้องถิ่น (ก็คือชุมชนของแต่ละโครงการนั้น ๆ) และส่วนกลาง (ชุมชนส่วนกลางสำหรับทุกโครงการในเครือของมูลนิธิ) เป็นผู้ดูแลร่วม


โครงการพี่น้อง?

คือทุกโครงการในเครือวิกิมีเดียที่มีเว็บประเภทวิกิเป็นของตัวโครงการเอง ซึ่งรวมไปถึงวิกิพีเดียด้วย

อาสาสมัครส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น?

โลโก้เมทาวิกิ เว็บไซต์วิกิที่ใช้ในชุมชนส่วนกลางสำหรับ เช่น อภิปรายตัวโครงการ เป็นต้น (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Meta-Wiki_Proposed_logo.svg]])
สำหรับคำอธิบายเพิ่มเติม ผมจะยกไปบอกตอนอธิบาย ระบบชุมชนของโครงการในเครือมูลนิธิ เลยนะครับ


ระบบชุมชนของโครงการในเครือมูลนิธิ เป็นอย่างไร

โลโก้ที่สื่อถึงพันธมิตรของมูลนิธิวิกิมีเดีย (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Wikimedia_movement_affiliates.svg]])
ถ้าตามความเข้าใจของผมแล้ว จะมีชุมชนที่เป็นระบบชุมชน ซึ่งใช้กับทุกโครงการในเครือของมูลนิธิ โดยจะมีองค์ประกอบอยู่ไม่กี่ส่วนตามมุมมองของผมที่มีต่อชุมชนวิกิมีเดีย ดังนี้:

  • มูลนิธิ (Wikimedia Foundation): ตัวมูลนิธิและการทำงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิหรือทำในนามของมูลนิธิ
  • ชุมชนส่วนกลาง (global community): ชุมชนของอาสาสมัคร โดยมีวัตถุประสงค์ดูแล/พัฒนา/จัดการ สิ่งเหล่านี้: 
    • สิ่งต่าง ๆ ที่มีผลข้ามโครงการหรือทุกโครงการโดยตรง เช่น นโยบายส่วนกลาง
    • หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เจาะจงต่อโครงการใด ๆ (มักมีผลต่อโครงการอื่น ๆ ทางอ้อม) เช่น การอภิปรายต่อการทำงานของมูลนิธิ (การทำงานบางอย่างของมูลนิธิมีผลโดยตรงต่อโครงการ แต่การอภิปรายต่อการทำงานดังกล่าวของมูลนิธิไม่ได้มีผลโดยตรง)
  • ชุมชนท้องถิ่น (local community): ชุมชนของอาสาสมัครในโครงการที่เจาะจงใด ๆ พูดง่าย ๆ คือ อาสาสมัครที่ทำงานจิตอาสาในโครงการนั้นเอง
  • พันธมิตรวิกิมีเดีย (Wikimedia Affiliates): เป็นกลุ่มบุคคล/องค์กรที่มีสถานะพิเศษเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ อาจจะอิงกับโครงการหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ข้อกำหนดของกลุ่มฯ
    • กลุ่มผู้ใช้ (User Group): คือกลุ่มของอาสาสมัครหลาย ๆ คน ที่ไม่ได้เป็นองค์กร โดยประสงค์รวมตัวเพื่อบรรลุจุดประสงค์เฉพาะที่กลุ่มประสงค์ สมมุติเช่น กลุ่มผู้ใช้ทวีปเอเซีย ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานการทำงานเกี่ยวกับวิกิมีเดียในลักษณะข้ามประเทศในทวีป (เช่น การจัดงานประชุมวิกิมีเดียในต่างประเทศ)  เป็นต้น แม้กลุ่มผู้ใช้จะไม่จำเป็นต้องผ่านการยอมรับเพิ่มเติม (recognition) โดยมูลนิธิ (ประเภทพันธมิตรวิกิมีเดียอื่น ๆ จำเป็นต้องผ่านการยอมรับเสียก่อน) แต่หากมีการยอมรับฯแล้วจะสามารถมีสิทธิเพิ่มได้ เช่น การขอใช้เครื่องหมายทางการค้าของวิกิมีเดีย เป็นต้น
    • องค์กรเฉพาะกิจ (Thematic Organization): เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมทั้งโครงการและมูลนิธิวิกิมีเดีย โดยมีจุดประสงค์เฉพาะด้าน ซึ่งจำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดที่เคร่งครัดมากกว่ากลุ่มผู้ใช้ แต่น้อยกว่าสาขามูลนิธิ สมมุติเช่น องค์กร EUWM ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานในประเทศในเครือสหภาพยุโรปกับมูลนิธิ แต่ไม่ประสงค์เป็นสาขามูลนิธิ เป็นต้น
    • สาขามูลนิธิ (Wikimedia Chapter): เป็นองค์กรอิสระที่เป็นสาขาของมูลนิธิ ความหมายตรงตัวเลยครับ คล้าย ๆ กับองค์กรเฉพาะกิจ แต่มูลนิธิอนุมัติให้องค์กรมีคุณสมบัติและบทบาทเป็นสาขาของมูลนิธิครับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมทั้งโครงการและมูลนิธิวิกิมีเดียในภูมิภาคที่กำหนด (เช่น ประเทศ หรือทวีป) และถ้าตามความเข้าใจผม ก็ประมาณว่าสาขาเหล่านี้จะคอยประสานงานระหว่างมูลนิธิกับหน่วยงานท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชนครับ เช่น วิกิมีเดียประเทศไทย มีหน้าที่คอยดูแลส่งเสริมโครงการวิกิมีเดียให้กับประชาชนประเทศไทย และร่วมมือกับองค์กรในประเทศไทย (เช่น DTAC, pantip) เป็นต้น ซึ่งสาขาอาจมีสำนักงานเป็นของตนได้ครับ

ชุมชนวิกิมีเดียทั้งกับประเทศไทยและผู้ใช้ภาษาไทย?

โลโก้มูลนิธิวิกิมีเดียประเทศไทย (Credit: Wikimedia Commons: [[File:Wikimedia Thailand-Logo-BW.svg]])
ตอนนี้เท่าที่ผมคลุกคลีกับชุมชนวิกิมีเดียภาษาไทยนะครับ จะขออธิบายว่ามีชุมชนที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศไทยหรือกับผู้ใช้ภาษาไทย อย่างสำคัญดังนี้

  • วิกิมีเดียประเทศไทย: เป็นสาขาของมูลนิธิที่ผ่านการยอมรับแล้วจากมูลนิธิ แต่ ณ ขณะนี้ (ปี 2564) ไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทยหรือยัง
  • กลุ่มของอาสาสมัครผู้ใช้ภาษาไทยในชุมชนวิกิมีเดียที่ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในโครงการวิกิมีเดียภาคภาษาไทยหรือโครงการวิกิมีเดียที่ไม่อิงภาษา:
    • ตามชื่อเลยครับ กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย อาสาสมัครที่ใช้ภาษาไทยในชุมชนวิกิมีเดีย แต่ต้องได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในโครงการวิกิมีเดียภาคภาษาไทยหรือโครงการวิกิมีเดียที่ไม่อิงภาษาด้วย
    • สำหรับกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ผมตั้งนิยามเองเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายอย่างกระซับ จึงไม่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเภทของระบบชุมชนวิกิมีเดียตามที่ผมได้กล่าวไป แต่เป็นแค่กลุ่มย่อย (ที่ผมตั้งเกณฑ์เลือกมา) ของชุมชนวิกิมีเดียก็เท่านั้น
    • โดยผมจะย่อกลุ่มนิยามนี้สั้น ๆ ว่า กลุ่มของอาสาสมัครผู้ใช้ภาษาไทยในชุมชนวิกิมีเดียฯ (จะเห็นว่าชื่อย่อนี้ ผมไม่ได้หมายความถึงอาสาสมัครที่ใช้ภาษาไทยอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนร่วมในลักษณะที่ตรงกับเงื่อนไขที่ผมกำหนดตามชื่อเต็มด้วย และด้วยเหตุนี้ผมจึงใส่เครื่องหมาย ไปยาลน้อย เพื่อบ่งบอกว่ามีความหมายแฝงเพิ่มเติมอยู่)
    • ชื่อผู้ใช้ขาประจำตัวอย่างในกลุ่มนิยามนี้ เช่น Geonuch, B20180 เป็นต้น ซึ่งเป็นรายชื่อตัวอย่างที่ผมเห็นคลุกคลีกับโครงการพี่น้อง
  • ชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทย
    • เป็นชุมชนท้องถิ่นของวิกิมีเดียตามที่ได้ระบุไว้เกี่ยวกับระบบชุมชนวิกิมีเดีย
    • แน่นอนล่ะครับว่าชุมชนมีความสำคัญ เพราะว่าผมมองว่าเป็นโครงการวิกิมีเดียที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกครับ
    • และอาสาสมัครที่ประจำในโครงการอื่น ๆ นอกจากวิกิพีเดีย หรือทำสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับวิกิมีเดีย นั้นก็มักมาจากอาสาสมัครในชุมชนวิกิพีเดียเป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งในวิกิพีเดียภาษาไทยก็เป็นเช่นนั้นเช่นกัน

ปิดท้าย

หลังจากนี้ หากสนใจประเด็นข้างบนดังกล่าวเพิ่มเติม จำพวกข้อมูลเกี่ยวกับ มูลนิธิ หรือ ระบบชุมชน ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการใช้งานหรือการมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียภาษาไทยเท่าไหร่ ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้เองนะครับ หรืออาจจะศึกษาด้วยตนเองในหน้าเว็บวิกิพีเดียที่ผมจะระบุไว้ในตอนถัดไปของชุดตอน ก็ได้ครับ

ก็จบแล้วนะครับสำหรับตอนแรก ในตอนถัดไปเราจะเริ่มเนื้อหาเกี่ยวกับวิกิพีเดียแบบถึงน้ำถึงเนื้อเสียทีครับ โดยในตอนต่อไปจะเป็นเกี่ยวกับเรื่อง หน้าที่ควรรู้จักในวิกิพีเดีย นะครับ ทั้งนี้คุณสามารถติดตามบล็อกผมผ่าน RSS Feed ได้นะครับ แม้ว่าหลายส่วนของข้อมูลมาจากประสบการณ์ตนเอง แต่หากมีข้อมูลเท็จจริงที่ผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมาด้วยนะครับ

แหล่งข้อมูล

หมายเหตุ: ขออนุญาตอ้างอิงวิกิพีเดียนะครับ เพราะไม่ได้อ้างอิงในเชิงวิชาการ แค่ใช้ในการบอกว่านำข้อมูลจากที่ไหนมาครับ
  • คำถาม "วิกิพีเดียคืออะไร"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ
  • คำถาม "ระบบวิกิ?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิ
  • คำถาม "ที่มาชื่อวิกิพีเดีย?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ
  • คำถาม "ใครเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของ"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ
  • คำถาม "มูลนิธิวิกิมีเดีย?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: มูลนิธิวิกิมีเดีย
    • https://wikimediafoundation.org/about/
  • คำถาม "แล้วชุมชนวิกิพีเดียภาษาไทยสัมพันธ์อย่างไรกับมูลนิธิวิกิมีเดีย"
    • (ไม่มี)
  • คำถาม "โปรแกรมที่ใช้ในระบบวิกิของวิกิพีเดียและโครงการในเครือมูลนิธิวิกิมีเดีย?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: มีเดียวิกิ
    • หน้าวิกิ mediawiki.org: Project:About
  • คำถาม "ประวัติความเป็นมาโดยย่อของวิกิพีเดีย?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาไทย: วิกิพีเดีย:เกี่ยวกับ
  • คำถาม "ใครเขียนบทความวิกิพีเดีย"
    • (ไม่มี)
  • คำถาม "ใครดูแลระบบเว็บและโครงการวิกิพีเดีย"
    • (ไม่มี)
  • คำถาม "โครงการพี่น้อง?"
    • หน้าวิกิวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ: Wikimedia_sister_projects
  • คำถาม "อาสาสมัครส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น?"
    • (ไม่มี)
  • คำถาม "ระบบชุมชนของโครงการในเครือมูลนิธิ เป็นอย่างไร"
    • หน้าวิกิที่เมทา (meta.wikimedia.org): Wikimedia_movement_affiliates
    • หน้าวิกิที่เมทา (meta.wikimedia.org): Wikimedia_user_groups
    • หน้าวิกิที่เมทา (meta.wikimedia.org): Wikimedia_thematic_organizations
    • หน้าวิกิที่เมทา (meta.wikimedia.org): Wikimedia_chapters
  • คำถาม "ระบบชุมชนวิกิมีเดียกับประเทศไทยหรือกับผู้ใช้ภาษาไทย?"
    • หน้าวิกิที่เมทา (meta.wikimedia.org): Wikimedia_Thailand

ปฏิเสธความรับผิดชอบ

  • ผมไม่ได้เขียนบทความนี้ ในนาม/ในการกำกับ ของมูลนิธิฯ หรือแม้แต่ชุมชนของวิกิมีเดียเอง
  • ผมเขียนบทความนี้ในนามของผมเอง (ณัฐพงศ์ พันพิพัฒน์) โดยไร้ซึ่งการกำกับจากบุคคลหรือหน่วยงานนอก และเป็นอิสระในการเขียนบทความนี้
  • ผู้แก้ไขไม่ขอไม่รับผิดชอบการแก้ไขที่ผิดพลาด จากการอิงเนื้อหาในบทความนี้ ขอให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวประกอบในการมีส่วนร่วมในโครงการวิกิมีเดียด้วยเป็นการแนะนำ